การบรรเลงดนตรี

การบรรเลงดนตรีในเพลงฉุยฉาย
          ฉุยฉาย เป็นเพลงในอัตราจังหวะ 2 ชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมการร้องเพลงฉุยฉาย ใช้ดนตรีรับ 1 - 2 เที่ยวทุกๆท่อน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่รับเพียงเที่ยวเดียว ตามปกติเพลงฉุยฉายจะมีเพลง 2 เพลงรวมอยู่ด้วยกัน คือเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี โดยที่ในตอนแรกจะร้องเพลงฉุยฉายก่อน ร้องหมดท่อนหนึ่งก็มีปี่เป่าเลียนทำนอง และเสียงร้องเพียงชิ้นเดียวก่อน แล้วจึงบรรเลงรับต่อด้วยเพลงแม่ศรีติดต่อกันไป การที่ต้องร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรีติดต่อกันนั้น เพราะถือว่า เพลงฉุยฉายเป็นเพลงช้า เพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็วซึ่งเป็นเพลง 2 ชั้น เรียกตามหน้าทับว่า "สองไม้" การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้วยเพลงรัว ร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี จบด้วยเพลงเร็ว - ลา ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมโดยทั่วไป ขอยกตัวอย่างรำฉุยฉายอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมโดยนำไปแสดงอย่างแพร่หลายคือ ฉุยฉายพราหมณ์
          
คำร้อง: พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6    เนื้อร้อง 
     ฉุยฉายเอย
ช่างงามขำช่างรำโยกย้าย
สะเอวแสนอ่อนอรชรช่วงกาย
วิจิตรยิ่งลายที่คนประดิษฐ์
สองเนตรคมขำแสงดำมันขลับ
ชม้อยเนตรจับช่างสวยสุดพิศ ฯ
       สุดสวยเอย
ยิ่งพิศยิ่งเพลินเชิญให้งงงวย
งามหัตถ์งามกรช่างอ่อนระทวย
ช่างนาดช่างนวยสวยยั่วนัยนา
ทั้งหัตถ์ทั้งกรก็ฟ้อนถูกแบบ
ดูยลแยบสวยยิ่งเทวา ฯ
       น่าชมเอย
น่าชมเจ้าพราหมณ์
ดูทั่วตัวงาม
ไม่ทรามจนนิด
ดูผุดดูผ่อง
เหมือนทองทาติด
ยิ่งเพ่งยิ่งพิศ
ยิ่งคิดชมเอย ฯ
       น่ารักเอย
น่ารักดรุณ
เหมือนแรกจะรุ่น
จะรู้เดียงสา
เจ้ายิ้มเจ้าแย้ม
แก้มเหมือนมาลา
จ่อจิตติดตา
เสียจริงเจ้าเอย ฯ


โอกาศที่ใช้  
  แสดงในงานมงคล และงานอวมงคลต่างๆ  เช่น   งานมงคลสมรส งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่                      งานฌาปนกิจ เป็นต้น
ดนตรีที่ใช้    วงปี่พาทย์เครื่องห้า มีเครื่องดนตรี  ดังนี้    
                     ระนาดเอก    ฆ้องวงใหญ่     ปี่ใน     ตะโพน      กลองทัด     ฉิ่ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น